Sunday, December 13, 2015

ที่ปรึกษาแนะนำ ผู้นำตัดสินใจ


มาดูว่า 3 ข้อต่อไปนี้ ข้อไหนถูกที่สุด
1.เชื่อที่ปรึกษา
2.ไม่เชื่อที่ปรึกษา
3.เชื่อไม่เชื่อไม่รู้ เอาตามเสียงส่วนมากหล่ะกัน

ข้อ 1
โจโฉเดินทัพบุกกังตั๋ง เจียวก้านให้ความเห็นว่าควรเกลี้ยกล่อมจิวยี่ให้ยอมแพ้ โจโฉจึงเชื่อเจียวก้าน หลังจากนั้นเจียวก้านได้เดินทางไปหาจิวยี่ แต่โดนจิวยี่ซ้อนกล โดยการเป่าหูเจียวก้านว่า ชัวมอ เตียวอุ๋นเป็นไส้ศึก เมื่อเจียวก้านนำความไปแจ้งโจโฉ โจโฉจึงสั่งให้ประหาร ชัวมอ เตียวอุ๋น 2 แม่ทัพที่มีหน้าที่ฝึกหัดการสงครามทางเรือ ทั้ง 2 จึงจบชีวิตลง

ข้อ 2
เล่าปี่แค้นที่ซุนกวนที่เป็นต้นเหตุให้กวนอูตาย จึงยกทัพใหญ่ไปรบ ขงเบ้งไม่เห็นด้วยแต่เล่าปี่ไม่ฟังความที่ปรึกษา ยกกองทัพไปตายเกลี้ยง พร้อมทั้งเสีย 2 ทหารเอก เตียวหุย ฮองตง

ข้อ 3
เล่าปี่ฆ่ากิเหมาซึ่งเป็นขุนพลของโจโฉและยึดชีจิ๋วกลับมาได้ เล่าปี่จึงส่งหนังสือไปบอกอ้วนเสี้ยวให้ร่วมช่วยกันตีโจโฉ อ้วนเสี้ยวไม่รู้จะทำเช่นไรจึงเรียกที่ปรึกษามาคุย ฝ่ายเตียนห้องชีสิว เห็นว่า "ไม่ควรยกทัพไป" ทางด้านสิมโพย กัวเต๋าบอกว่า "เป็นโอกาสดีควรไป" ทั้ง 4 คนโต้เถียงกัน อ้วนเสี้ยวมึนงงไม่รู้จะฟังความข้างไหน ความเห็น 2 เสียงเท่ากัน ทันใดนั้น เขาฮิวและซุนขามเข้ามา อ้วนเสี้ยวจึงถามว่าควรทำอย่างไร ทั้ง 2 จึงลงความเห็นว่าควรยกทัพไปตีโจโฉ อ้วนเสี้ยวจึงเชื่อฟังเสียงส่วนมาก จึงเป็น "โอกาส" ให้อ้วนเสี้ยวนั้นมีชัยเหนือโจโฉ (ความเห็นส่วนตัว หาอ้วนเสี้ยวต้องการปราบโจโฉ ผมเชื่อว่าการยกทัพไปร่วมกับเล่าปี่ ดีกว่าการยกทัพไปฝ่ายเดียว)

สรุปคือ ที่ปรึกษาดีๆมีเยอะ แต่บางครั้งก็เชื่อได้ บางครั้งก็เชื่อไม่ได้ บางครั้งเชื่อเสียงส่วนมากดันออกมาดี แต่บางครั้งเสียงส่วนมากพาล่มจมก็มี ผมจึงตั้งหัวข้อขึ้นมาว่า "ที่ปรึกษาแนะนำ ผู้นำตัดสินใจ" หากเกิดการผิดพลาดขึ้นมาคุณควรที่จะรับผิดชอบการตัดสินใจนั้ มิใช่โยนความผิดให้ที่ปรึกษา (พอผลออกมาดีชมว่าเป็นการตัดสินใจตน พอผิดพลาดโทษว่าเป็นความเห็นของที่ปรึกษา)

อันนี้แค่ตัวอย่างนะครับ โจโฉ เล่าปี่ อ้วนเสี้ยว จะเป็นแบบนี้ทั้งเรื่อง

ท้ายสุดอยากจะฝากว่า คุณอย่าฝากความหวังทุกสิ่งทุกอย่างไว้กับ consult และ การเป็นผู้นำนั้นไม่ได้ง่ายเลย ผมบอกได้เลยว่าสิ่งที่ยากสุดของการเป็นผู้นำคือ "การตัดสินใจ" มันคือตัวที่ตัดสินทุกๆสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาต

Thursday, December 3, 2015

โจโฉหัวเราะร่า กับ เล่าปี่เสียน้ำตา


ในวรรณกรรมสามก๊กโจโฉและเล่าปี่ ล้วนเป็นระดับ Top management ทั้ง 2 คนต่างก็มีบุคลิกที่คล้ายกันเช่น เรื่องความเพียร ความทะเยอทะยาน มุ่งมานะ แต่ก็มีบุคลิกหลายๆอย่างที่แตกต่างเช่นกัน หลอกว้านจงได้กล่าวถึงการบีบน้ำตาของเล่าปี่ในหลายๆตอน และ การหัวเราะร่าของโจโฉ หลายๆตอนเช่นกัน

ถ้าพูดถึงโจโฉนั้น โจโฉเป็นคนมีอารมณ์ขัน หัวเราะได้ทุกเวลา หัวเราะแบบไม่รู้จักเวล่ำเวลาก็มี 555 ชนะก็หัวเราะ แพ้ก็หัวเราะ

- ตอนที่โจโฉหัวเราะขุนนางที่นั่งร้องไห้กันว่า พวกท่านจะใช่น้ำตาฆ่าตั๋งโต๊ะเช่นนั้นหรือ
- ในศึกที่ออกรบ โจโฉจะหัวเราะเหยียดหยามคู่ต่อสู้
- ในครั้งที่แพ้ศึกลิโป้มา โจโฉก็หัวเราะร่าว่าข้าถูกอุบายลิโป้เข้าเสียแล้ว
- โจโฉแตกทัพในศึกเซ็กเพ็ก หนีมาทางคับแคบ หัวเราะความคิดของขงเบ้งและจิวยี่ว่าหาก 2 คนนั้นมาตั้งกองทัพดักไว้ ตนเองจะหนีไปไหน หัวเราะแบบนี้อยู่ถึง 3 ครั้ง

ถ้าพูดถึงเล่าปี่ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการเสียน้ำตา หลายคนตั้งคำถามมากว่า เล่าปี่ร้องไห้กี่ครั้ง ผมก็ไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆในสถานการณ์ที่คับขัน เสียใจ ดีใจ อาลัยอาวร เล่าปี่ก็บีดน้ำตาออกมา ไม่ว่าจะเป็น

-ตอนที่พบกวนอูเตียวหุยแล้วตกลงเป็นพี่น้องกัน
- ร้องไห้รักเตียวหุยตอนเสียเมืองชีจิ๋วให้ลิโป้
- ตอนที่แตกทัพหนีโจโฉเล่าปี่สงสารประชาชนที่ติดตามมาซึ่งได้รับความลำลากยิ่งนัก
- ร้องไห้รักจูล่งที่อุส่าห์ผ่าด่านช่วยอาเต้าตนจูล่งเกือบเสียชีวิต
- ร้องไห้ให้ซุนฮูหยินช่วยพาหนีจากการโจมตีของทหารของจิวยี่
ฯลฯ

นี่ก็เป็น 2 บุคลิกที่แตกต่างกันระว่างโจโฉและเล่าปี่ เมื่อยามวิกฤตโจโฉหัวเราะให้โชคชะตาของตน ในทางกลับกันเมื่อยามวิกฤตเล่าปี่ร้องไห้ให้กับชะตาของตน ไม่ว่าจะเป็นการหัวเราะหรือร้องไห้ ทั้ง 2 คนก็ผ่านวิกฤตมาจนเป็นใหญ่ขึ้นมาได้

ปล.มาสคาร่าเล่าปี่เลอะหมดแล้ว - -a

Saturday, November 21, 2015

คำสั่งเสียสุดท้ายของขงเบ้ง


คำสั่งเสียสุดท้ายของขงเบ้ง

ช่วงที่ 1 ขงเบ้งมอบตำราให้แก่เกียงอุย พร้อมทั้งเตือนเกียงอุยให้ระวังซอกเขาตำบลอิมเป๋ง เรียกม้าต้าย เอียวหงี มาสั่งว่าเมื่อเราตายอุยเอี๋ยนจะก่อการขบถให้ไปอยู่กับอุยเอี๋ยนแล้วหาทางกำจัดเสีย

ช่วงที่ 2 ขงเบ้งลุกจากเตียงไปตรวจค่ายพร้อมทั้งสั่งให้เอียวหงี ให้ดูแลทหารและเรียกใช้ อองเป๋ง ม้าต้าย เลียวฮัว เตียวเอ็ก เตียวหงี และช่วยกันถอยทัพ หากมีสิ่งใดก็ให้ไปปรึกษาเกียงอุย

ช่วงที่ 3 ขงเบ้งเขียนหนังสือส่งไปหาพระเจ้าเล่าเสี้ยน แนะนำให้พระเจ้าเล่าเสี้ยนอยู่ในสัตย์ ทำนุบำรุงทหารและประชาชน อย่าเชื่อฟังคนพาล

ช่วงที่ 4 ให้เอาทรัพย์สินส่วนตัวของขงเบ้ง เอาเข้าคลังหลวงและแบ่งแจกจ่ายให้แก่เหล่าทหาร

ช่วงที่ 5 สั่งห้ามให้ทุกคนนุ่งขาวห่มขาว เพื่อไม่ให้สุมาอี้รู้ ให้ต่อโรงใส่ศพแบบท่านั่ง เอาข้าวสารใส่ปาก 7 เมล็ด จุดโคมไว้ใต้ที่นั่ง เพื่อไม่ให้ดาวอายุขัยนั้นหายไป สุมาอี้ก็จะไม่กล้ามาย่ำยี

ช่วงที่ 6 หากสุมาอี้ยังยกทัพบุก ให้สร้างหุ่นตัวเราใส่เกวียนไว้เพื่อลวงสุมาอี้ เท่านี้สุมาอี้ก็จะกลัวและหนีกลับไป

ช่วงที่ 7 เล่าฮกเดินทางมาถามขงเบ้งว่า หาขงเบ้งตายจะให้เป็นมหาอุปราชแทน ขงเบ้งจึงตอบว่า เจียวอ้วน เล่าฮกถามต่อว่าถ้าเจียวอ้วนตายแล้วให้ใครเป็นต่อ ขงเบ้งตอบว่า บิฮุย เล่าฮกถามเป็นรอบที่สามว่า ถ้าบิฮุยตายแล้วให้ใครเป็นต่อ ขงเบ้งมิทันได้ตอบก็เสียชีวิตลงบัดดล ด้วยวัย 54 ปี...

Monday, November 16, 2015

คำสั่งเสียสุดท้ายของซุนเซ็ก


ก่อนจะไปเรื่องซุนกวนของเกริ่นนำนิดหน่อย

ซุนกวนนั้นถือว่าเป็น CEO รุ่นที่สามของ ซุน Co., Ltd. มีศักดิ์เป็นถึงลูกเถ้าแก่ ย้อนมาตั้งแต่สมัยก่อนตั้งโดยมี ซุนเกี๋ยน เป็นผู้วางรากฐานมาตั้งแต่สมัยอยู่เมืองเตียงสา มีสามทหารเอกคู่ใจ เทียเภา ฮันต๋ง อุยกาย ภักดีคอยรับใช้ หลังซุนเกี๋ยนตายซุนเซ็กผู้พี่ของซุนกวนก็สืบทอดต่อ มีความเจนจบในการสงครามไม่แพ้กับพ่อ เป็นพี่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่แดนกังตั๋ง โดยมี จิวยี่และไทสูจู้ เป็นขุนพลคู่ใจ

ก่อนที่ซุนเซ็กจะตายซุนเซ็กได้เรียกซุนกวนและเหล่าขุนนางมาสั่งเสีย ความว่า

ช่วงที่ 1 ซุนเซ็กกล่าวกับเหล่าขุนนางพร้อมเตียวเจียว แผ่นดินเป็นจลาจล หัวเมืองต่าง ๆ ล้วนคิดอ่านตั้งตัวเป็นใหญ่และกังตั๋งเป็นที่หมายปองต่อเหล่าบรรดาเจ้าเมืองต่างๆ จงรักษาไว้มั่นโดยแม่น้ำแยงซีจะคอยคุ้มกันรักษาเมืองไว้ และฝากเตียวเจียวคอยเป็นที่ปรึกษาแก่ซุนกวนในด้านการภายใน

ช่วงนี้จะเห็นว่า ซุนเซ็กนั้นเป็นผู้กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ไว้ให้แก่แคว้นกั๋งตั๋งโดยเป้าหมายสูงสุด มิใช้ "รวมแผ่นดิน" แต่เป็นการ "รักษาแคว้นกังตั๋ง"

ช่วงที่ 2 ซุนเซ็กเรียกซุนกวนมามอบตราตั้งเมือง แล้วชี้แนะซุนกวนว่า "การศึกสงครามนั้น น้องสู้พี่มิได้ แต่หากวิชาการปกครองนั้นพี่สู้น้องมิได้ อันเมืองกังตั๋งนี้พี่และพ่อเจ้านั้นได้ช่วยกันสร้างขึ้นขอให้เจ้าจงคุ้มครองรักษาไว้ให้จงดี"

ช่วงที่ 3 ซุนเซ็กได้ฝากความบ้านการเมืองให้กับมารดาโดยภายภาคหน้าให้แนะนำซุนกวน "อันการข้างในให้ปรึกษากับเตียวเจียว ซึ่งการสงครามให้ปรึกษาจิวยี่เถิด แต่น้อยใจด้วยจิวยี่ไม่อยู่ มิได้สั่งความไว้ต่อปาก"

ช่วงนี้ซุนเซ็กได้วิเคราะห์ถึงความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชา เตียวเจียวและจิวยี่นั้น ต่างมีความสามารความถนัดกันคนละด้าน การจะสำเร็จลุล่วงต้องอาศัย teamwork 

หลังจากซุนเซ็กตายจิวยี่ได้เดินทางมาไหว้ศพและรายงานต่อซุนกวน ซุนกวนได้ย้ำคำพูดพี่ชายให้จิวยี่ฟัง จากนั้นซุนกวนก็ได้ขอคำปรึกษาจากจิวยี่ในทันที ว่าจะปกครองยังไงดี จิวยี่ได้เสนอหลักการปกครองว่า "คำโบราณกล่าวไว้แต่ก่อนว่า มีคนดีไว้ใช้บ้านเมืองจะรุ่งเรือง" จุดนี้แสดงให้เห็นว่า แม้ซุนกวนมีคุณวุฒิมากกว่าแต่ด้วยวัยวุฒินั้นต่ำกว่า พร้อมที่จะรับฟังความเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชา

จากนั้นซุนกวนก็ได้เสาะแสวงหาคนดีมีฝือมือเข้ามารับราชการ การปกครองและการทหาร ทำให้ง่อก๊กนั้นเป็นปึกแผ่นและเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น


Saturday, November 14, 2015

คำสั่งเสียสุดท้ายของเล่าปี่



เล่าปี่ยกทัพหวังจะตีซุนกวนเพื่อล้างแค้นแทนกวนอู กลับต้องเสียเตียวหุยและฮองตง 2 ทหารเอก กองเล่าปี่โดนลงซุนเผาวอดวาย ซมซานมารักษาตัวที่เมืองเป๊กเต้ เล่าปี่พาทหารมาตายหมดสิ้นจนไม่มีหน้ากลับเสฉวน ถ้ามองในมุมมิตรภาพ ระหว่างพี่น้องแล้ว เล่าปี่ยอมละทิ้งอุดมการณ์ทุกอย่างเพื่อล้างแค้นแทนน้องร่วมสาบาน หลังจากนั้นเล่าปี่อาการทรุดลงหนัก ขงเบ้งได้เดินทางมาพบ เล่าปี่จึงได้สั่งเสียครั้งสุดท้ายความว่า

ช่วงที่ 1 เล่าปี่สำนึกผิดในการกระทำที่ตนได้ทำลงไปและได้ฝากงานไว้กับขงเบ้งว่า "เมื่อเราได้ท่านมา งานทุกอย่างก็สำเร็จไปได้ด้วยดี แต่ยกทัพมาบัดนี้มิฟังคำของท่านจึงพ่ายแพ้ ตัวเรานั้นไกล้ตายแล้ว ขอให้ท่านช่วยทำนุบำรุงแผ่นดินต่อจากเราด้วยเถิด"

ช่วงที่ 2 ถึงแม้เล่าปี่ไกล้จะตายแต่ความสามารถในการมองคนใช้คนก็ไม่ได้หดหายจึงเสนอแนะให้กับขงเบ้ง "หากต้องการจะใช้ม้าเจ๊กให้พึงระวังอันม้าเจ๊กผู้นี้เจรจาเกินรู้ ไม่เหมาะที่ใช้งานใหญ่"

ช่วงที่ 3 เล่าปี่ได้ฝากงานใหญ่ให้แก่เหล่าขุนนางโดยกำจัดสกุลโจ ฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นต่อไป

ช่วงที่ 4 เล่าปี่ได้เสนอยกแผ่นดินให้แก่ขงเบ้ง ความว่า "ตัวท่านนั้นมีสติปัญญา จงช่วยทำนุบำรุงลูกเราด้วย แต่หากลูกเรานั้นไร้ความสามารถก็ขอให้ตัวท่านยึดจ๊กก๊กปกครองเองเสียเถิด" ช่วงนี้เป็นที่วิพากวิจารณ์กันมากมาย ว่าเล่าปี่ต้องการยกจ๊กก๊กให้ขงเบ้งจริงหรือแค่ลองใจ ตามความเห็นผมผมมองว่า เล่าปี่แค่ลองใจขงเบ้งเท่านั้นเอง เล่าปี่ถือว่าเป็นอัฉริยะในการมองคน มองม้าเจ๊กอย่างปรุโปร่ง รู้ว่าลูกตัวเองไม่เอาไหนและรู้ว่าขงเบ้งนั้นภักดีต่อราชวงศ์ฮั่น จึงได้ลองใจขงเบ้งก่อนวาระสุดท้ายของตน

ช่วงที่ 5 เล่าปี่ได้เรียกลูกของตนให้เชื่อฟังขงเบ้งและเคารพขงเบ้งเสมือนพ่อของตน ผมวิเคราะห์ว่าเล่าปี่คงเหลือไพ่ตายใบสุดท้ายคือขงเบ้ง จึงมอบอำนาจทุกอย่างและให้ฮ่องเต้องค์ต่อไปเชื่อฟังขงเบ้งด้วย ก็เท่ากับว่าขงเบ้งนั้นมีอำนาจเหนือพระเจ้าแผ่นดิน (ส่วนเล่าเสี้ยนจะเชื่อฟังทุกคำมั้ยก็คงรู้ๆกัน)

ช่วงที่ 6 เล่าปี่ได้ฝากฝังให้จูล่งคอยอุ้มชูลูกของตน นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าให้ขงเบ้งยึดแผ่นดินจากลูกตนแต่ไหงให้จูล่งช่วยลูกของตน แต่ผมขอวิเคราะห์ในอึกมุมนึงว่าเล่าปี่คงรู้ถึงความไม่เอาไหนของลูกตัวเองจึงได้ฝากจูล่งไปอีกแรง

เล่าปี่นั้นก็เป็นอีกตัวละครหนึ่งที่น่าสุดใจ อ่อนเอ เจ้าเล่ห์ โหดเหี้ยม บ้าอำนาจ เจ้าน้ำตา เอาแต่ใจ ใจกว้างเกินคน อุบายร้อยเล่ห์ ไม่แพ้กับโจโฉ เล่าปี่ถือว่าเป็นตัวละครที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในวรรณกรรมสามก็เลยก็ว่าได้

Thursday, November 12, 2015

คำสั่งเสียสุดท้ายของโจโฉ



โรคประสาทหลอนโจโฉบวกกับโรคปวดหัวทำให้โจโฉร่างกายทรุดลง ก่อนโจโฉจะตายนั้นโจโฉได้สั่งเรียก โจหอง ตันกุ๋ย กาเซี่ยง สุมาอี้ มาสั่งเสีย

ช่วงที่ 1 โจโฉกล่าวถึงความดีความชอบที่ตนเองได้ทำมา จากนั้นก็บอกถึงสิ่งที่ตัวเองยังทำไม่ได้ก็คือ การกำจัดเล่าปี่และซุนกวน

ช่วงที่ 2 โจโฉกล่าวถึงลูกทั้ง 4 คนของอย่าตรงไปตรงมา โจโฉบอกว่า "ข้ารักโจสิดบุตรคนที่สามเป็นอันมากแต่มักเสพสุรา ไม่รอบคอบ ส่วนโจเจียงนั้นเป็นคนมีฝีมือแต่ไร้สติปัญญา ส่วนโจหิมเป็นที่ขาดความรัก ขี้โรคสุขภาพอ่อนแอ มีแต่โจผีเท่านั้นมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดพอที่จะเป็นใหญ่แทนเราได้ ขอให้พวกท่านอุ้มชูลูกเราด้วยเถิด"

โจโฉเป็นพ่อที่รู้ว่าลูกแต่ละคนมีอุปนิสัยเป็นยังไง ถึงแม้จะรักโจสิดมาก แต่ด้วยความเป็นกลาง จึงยกคนที่เหมาะสมขึ้นรับตำแหน่งสืบต่อ

ช่วงที่ 3 โจโฉเรียกเมียใหญ่เมียน้อยหลายคนของตัวเองมาสั่งเสีย พร้อมทั้งแจกเงินทองให้ พร้อมทั้งสั่งเสียว่า "ให้ทุกคนไปอาศัยอยู่ที่ปราสาทนกยูงทองแดง ให้รักใคร่สามัคคีกันหากมีเรื่องผิดใจกันก็ขอให้คิดถึงเรา เมื่อสิ้นเราไปแล้ว หากวันใดสกุลโจนั้นตกอับ ขอให้พวกเจ้าฝึกวิชาชีพไว้สำหรับเลี้ยงตัวเอง จะได้ไม่ลำบากในภายภาคหน้า"

โจโฉเป็นประเภทเมียเยอะแต่ก็รักทุกคน แม้ตัวเองไกล้จะตายก็ยังสั่งสอนเมียของตนด้วยลมหายใจสุดท้าย

ช่วงที่ 4 โจโฉกล่าวว่า "อันตัวเรานั้นทำดีมาก็เยอะ ทำชั่วมาก็มากมาย คนรักก็มี คนชังก็มีมากมาย ดังนั้นอย่าให้ใครล่วงรู้ว่าฝังศพเราไว้ที่สุสานใด คนที่เกลียดชังเราก็จะขุนศพเรามาทำลาย"

ดั่งสุภาษิตที่ว่า "คนรักเท่าผืนหนังคนชังเท่าผืนเสื่อ"

นี่ก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของโจโฉที่ได้สนใจในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ บอกในสิ่งที่ตัวเองทำได้และสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ กล่าวถึงลูกเมีย และความเกลีดชังที่คนอื่นมีต่อตน

โจโฉนั้นเป็นตัวละครที่ลึกลับน่าติดตาม มีหลายบุคลิคในคนเดียวกัน เจ้าเล่ห์ โหดเหี้ยม บ้าอำนาจ อ่อนไหว โรแมนติก ใจร้อน โผงผาง ใจกว้าง อํามหิต ขวานผ่าซาก พูดตรง อคติ และถือว่าเป็นตัวละครที่สร้างสีสันไว้มากมายในวรรณกรรมสามก๊ก

Tuesday, October 20, 2015

#เอาตัวรอดสู่ความสำเร็จของเล่าปี่ #3




โตเกี๋ยมพยายามมอบเมืองให้เล่าปี่หลายต่อหลายรอบ เล่าปี่ก็ยังไม่ยอมรับ และพูดต่อหน้าทุกคนว่านั่นคือความไม่ชอบธรรมที่จะแย่งชิงเมืองมาเป็นของตน เหล่าที่ปรึกษาแลขุนนางของโตเกี๋ยมก็พากันเทใจให้แก่เล่าปี่

หลังโตเกี๋ยมตายไม่นานเล่าปี่ก็ถูกเสนอชื่อให้เป็นเจ้าเมือง ในขณะนั้นมี โจโฉ ลิโป้ อ้วนสุด หากต้องเลือกใครคนใดคนหนึ่งเป็นศัตรูเล่าปี่ก็เลือกอ้วนสุด เล่าปี่จึงยกทัพไปตีอ้วนสุดเพื่อเอาใจโจโฉ ยอมยกเมืองชีจิ๋วให้ลิโป้เพื่อเอาใจลิโป้ ยอมพูดวลี "พี่น้องเปรียบเหมือนแขนขา ลูกเมียเปรียบเหมือนเสื้อผ้า" เพื่อซื้อใจกวนอูเตียวหุย

เล่าปี่หว่านเสน่ห์ให้กับทุกคนสร้างภาพของตัวเองขึ้นมาให้ผู้คนไว้ใจ เมื่อขัดแย้งกับลิโป้ เล่าปี่ก็หนีมาหาโจโฉ การที่มาอยู่กับโจโฉในเมืองหลวงอีกครั้ง เป็นการสร้าง connection อีกขั้นหนึ่งของเล่าปี่




หลังจากปราบลิโป้เสร็จ โจโฉทูลความดีความชอบของเล่าปี่ ต่างกับสมัยที่เล่าปี่ทำผลงานปราบโจรโพกผ้าเหลือง เพราะมีบิ๊กใหญ่ระดับโจโฉเป็นผู้ออกหน้า เล่าปี่จึงได้รู้จักมักจี่กับพระเจ้าเหี้ยนเต้ และชื่อเสียงในด้านดีๆที่เล่าปี่สร้างไว้ก็สะท้อนออกมา เล่าปี่จึงได้เป็นพระเจ้าอาขององค์ฮ่องเต้ในเวลาต่อมา

เล่าปี่มาถึงตรงนี้มิใช้ชะตาฟ้ากำหนด ความสามารถนี้มิอาจตบตา โจโฉ ซุนฮก เทียหยก ได้ ต่อมาพระเจ้าเหี้ยนเต้ไม่พอใจพฤติกรรมของโจโฉที่มีท่าทีของการจาบจ้วง จึงเรียกตัวตังสินเขียนราชโองการเลือดขอความช่วยเหลือ



จากนั้นตังสินก็ล่ารายชื่อตั้งคณะกรรมการขบวนการปราบโจโฉขึ้นมา แถมยังเชิญเล่าปี่มาลงชื่อด้วย เล่าปี่บัดนี้ต้องเลือกข้างแล้วว่าจะอยู่ข้างองค์ฮ่องเต้หรือโจโฉ อยู่ดีๆก็มีคนเรียกไปลงชื่อซะงั้น กลับมาก็แสร้งปลูกผักหลอกโจโฉไปวันๆ สุดท้ายก็เลือกที่จะหนีออกมาดีกว่า ขืนอยู่ในเมืองหลวงก็คงโดนฆ่าตัดตอน เอาตัวรอดแล้วกลับมาสู้ต่อยังจะดีกว่า ในเวลาต่อมาโจโฉจับได้ว่าเล่าปี่คิดรายต่อตน จุดนี้จึงกลายเป็นจุดแตกหักระหว่างเล่าปี่และโจโฉตั้งแต่นั้นมา

หลังจากโจโฉล้างบางตังสินและพวกที่คิดร้ายตนในเมืองหลวงเรียบร้อยแล้วก็เหลือแต่เล่าปี่และม้าเท้ง เล่าปี่ได้เปิดศึกกับโจโฉอย่างเมามัน เล่าปี่ไม่สามารถสู้โจโฉได้ เมืองแตกต้องหนีกันไปคนละทิศละทาง ว่าแต่จะหนีไปไหนดีหล่ะ? ผู้ยิ่งใหญ่ในเวลานั้นก็คงมีแต่อ้วนเสี้ยว ใช้หลักศัตรูของศัตรูคือมิตร เล่าปี่มิได้มีความบาดหมางกับอ้วนเสี้ยว แถมยังไว้หน้าอ้วนเสี้ยวเมืองครั้ง 18 หัวเมือง นี่คงเป็นผลพวงของความใจเย็น การมีมิตรนั้นดีกว่าการมีศัตรู นับว่าเป็นการเอาตัวรอดได้เก่งอาจยิ่งนัก

Sunday, October 4, 2015

#เอาตัวรอดสู่ความสำเร็จของเล่าปี่ #2



กองซุนจ้านสหายรักของเล่าปี่ก็ได้เสนอชื่อเล่าปี่ในที่ประชุมอีกครั้ง ทำให้เล่าปี่ได้ไปเป็นเจ้าเมืองเพงง้วนก๋วน ต่อมาโจโฉได้สร้างกองทัพชูธงล้มลางอำนาจตั๋งโต๊ะพร้อมทั้งเชิญชวนเจ้าเมืองหลายคนมาช่วยเหลือ จึงเกิดกองทัพ 18 หัวเมืองขึ้นมา เล่าปี่เองก็ได้ติดตามทัพกองซุนจ้านไป เล่าปี่จึงได้อยู่ท่ามกลางเหล่าบรรดาเจ้าเมืองผู้ยิ่งใหญ่หลายๆคน

ฮัวหยงแม่ทัพของตั๋งโต๊ะยกทัพมาฆ่าแม่ทัพของ 18 หัวเมืองไปหลายคน กวนอูน้องรองแห่งสวนท้อถือโอกาสแสดงฝีมือให้เหล่าบรรดาเจ้าเมืองเป็นที่ประจักษ์ หลังจากที่กูอูฆ่าฮัวหยงได้ ก็กลายเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่เล่าปี่ไปในตัว จากเชื้อพระวงศ์ โนเนม ตอนนี้เริ่มจะกลายเป็นจุดสนใจของเจ้าเมืองทั้งหลาย



การที่เล่าปี่นั้นได้สร้างผลงานก็เป็นการฉีกหน้าบรรดาเจ้าเมืองหลายๆคน อ้วนเสี้ยวไม่พอใจจึงไล่เล่าปี่ออกไป เล่าปี่ต้องการเอาตัวรอด ไม่อยากเป็นที่ขุ่นเคือง และต้องการโชว์สปิริตให้แก่ผู้คน จึงขอตัวออกไป การมาเข้าร่วมของทัพ 18 หัวเมืองครั้งนี้ของเล่าปี่ก็มิได้เสียปล่าว

ต่อมาลิโป้ได้ยกทัพมาเอง ยอดนักรบแห่งยุคที่ไม่มีใครสามารถต่อกรได้ เก่งกว่าฮัวหยงหลายเท่า แม่ทัพ 18 หัวเมืองตายไปหลายนายจนไม่มีใครกล้าที่จะไปต่อกรกับลิโป้ ทันใดนั้นเอง ผู้กล้าเตียวหุยได้ควบม้าเข้าไปต่อสู้กับลิโป้ พร้อมทั้งกวนอูแลเล่าปี่ เจ้าเมืองก็ต่างพากันตกตะลึง ว่าอ้ายสามคนนี้สามารถไล่ลิโป้กลับไปได้

ในเวลาต่อมาโจโฉได้มีความขัดแย้งกับโตเกี๋ยม โตเกี๋ยมนั้นกลัวโจโฉจึงได้ขอความช่วยเหลือกับสหายขงหยง (ขงหยงและโตเกี๋ยมก็เป็นส่วนหนึ่งในทัพ 18 หัวเมือง) ขงหยงได้เสนอชื่อของเล่าปี่ ให้มาช่วย เนื่องจากว่าเล่าปี่นั้นเป็นคนมีสติปัญญาโอบอ้อมอารี โตเกี๋ยมก็เห็นด้วย เป็นไงหล่ะครับการสร้างชื่อเสียงของเล่าปี่ครั้งนั้นมิสูญเปล่า

Credit ภาพจาก Page สามก๊ก (samkokview)


พอเล่าปี่ได้จดหมาย ก็ตอบตกลงไปทันที เล่าปี่จึงได้ยืมทหารของกองซุนจ้านพร้อมทั้ง จูล่ง ติดทัพมาด้วย เล่าปี่นั้นเริ่มที่จะเป็นจุดสนใจในชนชั้นปกครอง การเดินทางของเล่าปี่มาครั้งนี้ มิใช่มาทำสงคราม แต่มาเพื่อเจรจายุติสงคราม โคตรพระเอกเลย...

เล่าปี่ส่งจดหมายไปเจรกับโจโฉ โจโฉโกรธเล่าปี่มาก ทันใดนั้นลิโป้ได้ยกทัพมายึดเมืองของโจโฉ ทำให้โจโฉต้องยกทัพกลับไปชิงเมืองตัวเองคืน เมืองชีจิ๋วก็เป็นสุข ชาวเมืองก็ยินดี โตเกี๋ยมก็ยินดี เล่าปี่ก็ได้เป็นฮีโร่ ซื้อใจทั้งประชาชนและเจ้าเมือง นี่คือการสร้างบารมีของเล่าปี่อีกครั้ง


Wednesday, September 30, 2015

#เอาตัวรอดสู่ความสำเร็จของเล่าปี่ #1



หลายคนชอบเล่าปี่ หลายคนเกลียดเล่าปี่ ข้อเสียของเล่าปี่มีมากพอๆกับข้อดีของเล่าปี่ เอ๊ะยังไง? หลายบทความที่ผมเขียนกระแซะเล่าปี่ไม่ใช่ผมไม่ชอบเล่าปี่นะครับ เราต้องแยกความชอบและความไม่ชอบออก ชอบบางอย่างไม่ชอบบางอย่าง ก็เลยมักจะไม่เหมารวม

เล่าปี่นั้นรู้จักวิธีการที่จะทำให้ตัวเองสู่ความสำเร็จ เล่าปี่ถูกขนานนามว่าเป็นผู้ที่มีความโอบอ้อมอารี ผู้พนมมือให้แก่ชนทุกชั้น การเปิดโอกาสให้ชีวิต คือการที่มีความอ่อนน้อมถ่อมต้น เล่าปี่ไม่มีเส้นสาย เป็นแค่คนจนๆ ไหนเลยจะเป็นใหญ่ได้ในสังคมเช่นนั้น ในวรรณกรรมกล่าวว่า เล่าปี่เป็นคนมักใหญ่ไฝ่สูงเล่าปี่เคยพูดตอนเด็กๆว่า "วันใดที่กูได้เป็นเจ้า กูจะเอาต้นหม่อนนี้ไปทำเศวตฉัตรกั้น"



เล่าปี่มีอุดมการณ์ในการปราบโจรโพกผ้าเหลือง ฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น แต่การที่ไม่มีต้นทุนในชีวิตเลย จะทำยังไงดีหล่ะ? คงได้แต่ทอดถอนใจ ไปวันๆ และแล้ววันนึ่งได้พบกับยอดขุนพลอย่าง กวนอู เตียวหุย และ 2 คนนี้น่าจะเป็นกำลังหลักให้แก่ตนได้

เล่าปี่จึงใช้ต้นทุนที่ตัวเองมี ความโอบอ้อมอารี อุดมการณ์ และ นามสกุลดัง ใช้ในการพูดคุยซื้อใจยอดขุนพลทั้งสอง เตียวหุยผู้ที่มีทุนทรัพย์ ได้ขายทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไปลงทุนกับเล่าปี่ ไม่แปลกใจที่สองคนนี้ถึงได้เป็นคนที่เล่าปี่รักเป็นอันมาก ในช่วงท้ายๆวรรณกรรม เล่าปี่ถึงได้ละทิ้งอุมดมการณ์ ยกทัพตีซุนกวนเพื่อล้างแค้นแทนน้องร่วมสาบานของตน


เล่าปี่ ได้ปราบโจรโพกผ้าเหลืองสร้างความดีความชอบสำเร็จก็ได้เป็นนายอำเภอเล็กๆ หลังจากที่เริ่มจะมีชื่อเสียงแล้ว เล่าปี่ยังต้องการซื้อใจปวงประชา เล่าปี่จึงปกครองประชาชนเป็นอย่างดี เป็นคนตงฉิน ไม่ซื้อยศซื้อตำแหน่ง ไม่ส่งส่วย จึงทำให้คนชั้นปรกครองไม่ชอบขี้หน้า จึงมีเรื่องกับต๊กอิ้ว ต๊กอิ้วพยายามบีบเล่าปี่ให้ออก สร้างความไม่พอใจแก่เตียวหุย เตียวหุยจึงจับต๊กอิ้วมาโบย เล่าปี่เห็นว่าหากมีเรื่องกับต๊กอิ้วตัวเองคงจะแย่ จึงตัดสินใจลาออก เพื่อความอยู่รอดของตน ประชาชนต่างพากันเสียดายและเสียใจ

แต่การเป็นนายอำเภอครั้งนี้ เล่าปี่กลับได้หัวใจของชาวประชา มีทักษะความสามารถในการเอาตัวรอด ซื้อใจชาวประชา ซื้อใจลูกน้อง มีความเป็นผู้บริหารมากกว่าที่จะเป็นนักรบ นั่นก็จึงเป็นจุดเริ่มต้นของชายผู้ที่ถือว่าเป็นยอดคนคนหนึ่งในสามก๊ก

ติดตามตอนต่อไป....

Thursday, September 17, 2015

จุดจบของผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ


[จุดจบของผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ]
ซุนฮกคือผู้ที่สร้างรากฐานให้แก่โจโฉ ซุนฮกเป็นที่ปรึกษารุ่นแรกของโจโฉ พร้อมทั้งเป็นผู้แนะนำเหล่าที่ปรึกษาเก่งๆหลายคนให้แก่โจโฉ ผมมองว่าซุนฮกนั้นมีบทบาทเด่นที่สุดในกลุ่มที่ปรึกษาทั้งปวงและเป็นคลังสมองให้แก่โจโฉ
ในตอนที่โจโฉทำศึกกับโตเกี๋ยม ซุนฮกเป็นผู้ทำหน้าที่รักษาเมืองแทนโจโฉ แต่ก็เสียเมืองไปให้แก่ลิโป้ ซุนฮกจึงส่งจดหมายไปบอกโจโฉว่า งานสำคัญไม่ใช่การตีโตเกี๋ยมแต่เป็นการชิงฐานที่มั่นคืน
ช่วงที่ลิฉุย กุยกี คิดร้ายต่อฮ่องเต้ ซุนฮกเป็นผู้เสนอให้โจโฉรีบคว้าโอกาสทอง ชูธงธรรมปกป้ององค์ฮ่องเต้ ตามปณิธานแรกของโจโฉ จนโจโฉได้ขึ้นเป็นใหญ่ชั่วข้ามคืน ในช่วงโจโฉออกศึกไหนๆซุนฮกก็จะคอยเป็นผู้รักษาเมืองไว้ให้
ซุนฮกผู้นี้ยังเคยเสนอให้โจโฉจัดการกับเล่าปี่ก่อนที่เล่าปี่จะเป็นภัย ในศึกกัวต๋อโจโฉรบกับอ้วนเสี้ยว โจโฉมีท่าทีว่าจะถอย ซุนฮกรีบส่ง email ไปบอกโจโฉว่าห้ามถอย จนโจโฉสามารถปราบอ้วนเสี้ยวได้สำเร็จ
นับเป็นตัวหมากที่คอยหนุนหลังโจโฉในทุกๆเรื่อง ต่อมาโจโฉได้แต่งตั้งตัวเองเป็นวุยก๋ง เหล่าที่ปรึกษาพากันเห็นชอบ แต่ซุนฮกนั้นกับเห็นต่างและแย้งโจโฉไป พร้อมทวงถามถึงปณิธานหลักของโจโฉ ที่ว่ารักฟื้นฟูและช่วยเหลือฮ่งเต้ แต่โจโฉวันนี้มิใช่โจโฉเมื่อก่อนที่เคยฟังคำซุนฮก โจโฉได้แต่งตั้งตัวเองเป็นวุยก๋งในภายหลัง ทำให้ซุนฮกเสียใจเป็นอันมาก
ต่อมาโจโฉกำลังยกทัพตีซุนกวนจึงชวนซุนฮกไป ซุนฮกคิดว่าโจโฉจะทำร้ายตน จึงแสร้งป่วยกายเมือง โจโฉรู้จึงสั่งให้ทหารส่งกล่องเปล่าไปให้ซุนฮก ซุนฮกเห็นเช่นนั้นก็เสียใจ จึงตรอมใจกินยาพิษตาย....
ปริศนากล่องเปล่าในวรรณกรรมไม่ได้บอก แต่ก็สามารถตีความได้หลายแง่มุม ตัวโจโฉเองไม่ชอบใครมาขัดใจเท่าไหร่ และการขัดคอครั้งนี้จึงเป็นการสื่อให้เห็นทัศนคติความมักใหญ่ของโจโฉ ทั้งๆที่ตำแหน่งโจโฉนั้นเป็นใหญ่อยู่แล้วไม่จำเป็นต้องเป็นวุยก๋งก็ได้ แต่โจโฉกลับทำ ในเมื่อความเห็นทั้ง 2 ต่างกันก็ยากที่จะอยู่ร่วมกัน นับว่าเป็นจุดจบอันน่าเศร้าของที่ปรึกษาที่จงรักภักดี
อำนาจ....เมื่อไม่เคยลิ้มรส ก็จะไม่รู้สึกรู้สม กระทั่งเมื่อเคยลิ้มลองลิ้มรส ก็ยากตัดใจ..สามารถเปลี่ยนแปลงคนได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ

อันร่างกายหมายสูงฝูงความคิด
คอยผูกจิตสัมพันธ์กันหมดสิ้น
เรามาจากแห่งใดในอาจินต์
ควรถวินกลับคืนอย่าลืมคอน

คำโบราณท่านบอกนี้ชอบนัก
เราจึงควรหวนตระหนักในอักษร
เมื่อได้ดีอย่าลืมหลังครั้งเก่าก่อน
ให้หวนย้อนเราเป็นใครในความจริง
credit คำกลอน : Design with love

Tuesday, August 25, 2015

จิ๋นซีฮ่องเต้


ยุคชุนชิว เชื่อกันว่า ขงจื้อ เป็นผู้เรียบเรียงประวัติศาสตร์ในยุคนั้น
ราชวงศ์โจว เสื่อมอำนาจ 7 รัฐแย่งความเป็นใหญ่ ผมจะโฟกัสที่รัฐฉิน (ของจี๋นซีฮ่องเต้) 

รัฐฉินนั้นมีความแข็งแกร่ง โหดเหี้ยม ยกทัพไปที่ไหนผู้คนก็กลัว จิ๋นซีก็ไล่เชคบิลไปทีละรัฐ คนไม่มีคู่ต่อสู้และสามารถรวมแผ่นดินจีนได้เป็นปึกแผ่นพร้อมทั้งแต่ตั้งตัวเองเป็น "จิ๋นซีฮ่องเต้" (ประเทศจีนก็มาจาก จิ๋น นี่แหละ)
จี๋นซีฮ่องเต้นั้นมีผลงานก็คือ
- ได้สร้างกำแพงเมืองจีนขึ้นมา 
- กำหนดให้ใช้ตัวอักษรภาษาจีน 
- ใช้กฎหมายอย่างเป็นเอกภาพทั่วประเทศ
- การกำหนดให้ใช้เงินตราอย่างเดียวกัน
       
พร้อมทั้งสั่งฆ่าสาวก "ขงจื้อ" ที่บังอาจมาวิจารณ์ตน จี๋นซีนั้นโหดเหี้ยมทารุณยิ่งกว่าตั๋งโต๊ะ ทำการเผานังสือนักปราชญ์ในยุคนั้นทิ้งหมด (ยกเว้นพวกตำราทางการแพทย์และเกษตร) ฝังพวกกลุ่มลัทธิขงจื้อไป 4000 กว่าคน ผู้คนต่างก็พากันสาบแช่ง เป็นคนทรราช เฮียแกยังเก็บภาษีประชาชนอย่างโหดอีกด้วย ใครทำผิดก็ฆ่าล้างโคตร ประชาชนอยู่กันอย่างหวาดละแวง นับว่าเป็นสุดยอดแห่งความเผด็จการ

เมื่ออายุมากก็เริ่มกลัวตาย ใครพูดเรื่องตายขึ้นมาถูกฆ่าหมด สั่งให้ทหารออกเรือ ตามหายาอายุวัฒนะ มีนิทานเล่าว่า คนที่ประเทศญี่ปุ่นคือทหารของจิ๋นซีที่ถูกใช้ให้ออกเรือไปตามหายาอายุวัฒนะ จิ๋นซีออกเดินทางไปสถานที่ต่างๆเพื่อหาเซียนผู้วิเศษเพื่อที่ทำให้ตนนั้นไม่แก่ชรา สุญเสียเงินตรากับเรื่องนี้เป็นอันมาก ในเวลาต่อมาจิ๋นซีก็ทรงป่วยหนักและเสียชีวิตนอกสถานที่ในขณะที่ออกตามหายาวิเศษ

หลังจากจิ๋นซีตายก็มีการช่วงชิงอำนาจกันต่อ ฮ่องเต้คนต่อมาเบาปัญญา ผู้คนเกลียดชัง เกิดการก่อกบฎ จนสุดท้ายก็ล่มสลาย 




สุสานจี๋นซีฮ่องเต้ได้ค้นพบโดยบังเอิญเมื่อ พ.ศ. 2517 โดยชาวนาในหมู่บ้านซีหยาง ในขณะที่ขุดดินเพื่อทำบ่อน้ำ บริเวณเชิงเขาหลีซาน โดยในระหว่างที่ขุดนั้น ก็บังเอิญพบกับซากของทหารดินเผา ที่ทราบภายหลังว่ามีอายุมากกว่า 2,000 ปี

ปัจจุบันรัฐบาลจีนขุดค้นพบวัตถุโบราณที่เป็นกองทัพทหารดินเผา สรรพาวุธ รถม้าและม้าศึก จำนวนทั้งสิ้นกว่า 7,400 ชิ้น ภายในบริเวณพื้นที่หลุมสุสานกว่า 25,000 ตร.ม. มีการคาดคะเนว่าอาณาเขตของสุสานจี๋นซีฮ่องเต้จะมีพื้นที่มากกว่า 2,180 ตร.กม. จี๋นซีฮ่องเต้สื่อหวงได้รับการคัดเลือกให้เป็นมรดกโลก

สุสานจี๋นซีฮ่องเต้เริ่มก่อสร้างในสมัยจี๋นซีฮ่องเต้ ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 38 ปี แบ่งออกเป็นพระราชฐานชั้นในและพระราชฐานชั้นนอก ภายในสุสานใช้บรรจุพระบรมศพของจี๋นซีฮ่องเต้ ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ตลอดจนกองกำลังทหาร นางสนมและนางกำนัล รถม้าและขุนพลทหาร จำนวนมาก เพื่อเป็นตัวแทนของข้าราชบริพารในการร่วมเดินทางไปยังปรโลกของจี๋นซีฮ่องเต้

ราชวงศ์ฉินจึงมีอายุอยู่ได้เพียง 15 ปี แต่อย่างไรก็ดี คำว่า "หวงตี้" (ฮ่องเต้) ก็ได้เป็นคำที่กษัตริย์จีนใช้เรียกตัวเองตลอดมา 2,000 กว่าปี


Wednesday, April 22, 2015

ธาตุขันธ์หลังความตายของกวนอู


ขงเบ้งได้มอบหมายหน้าที่ให้กวนอูรักษาเมืองเกงจิ๋ว กวนอูเป็นแม่ทัพที่เก่งกาจ ยากที่จะหาใครเทียมได้ 
- กวนอูบุกเดียวไปยังแดนกังตั๋ง
- ใช้อุบายทดน้ำทำลายทัพอิกิ๋ม
- รบชนะบังเต๊ก


เรียกได้ว่าในชั่วโมงนี้ไม่มีใครเทียบฝีมือกวนอูได้ แต่แม่ทัพที่ชนะศึกหลายๆ ครั้งมักจะเกิดลำพองใจโดยมิรู้ตัว ความหยิ่งในศักดิ์ศรี จนต้องพลาดท่าให้แก่ 2 แม่ทัพเมืองกังตั๋งอย่างลกซุนและลิบอง ทำให้กวนอูเสียเมืองเกงจิ๋วและถูกจับตัวเป็ยเชลย


ซุนกวนเกลี้ยกล่อมให้กวนอูมาเป็นพวก แต่กวนอูปฎิเสธพร้อมยอมตาย ซุนกวนจึงประหารกวนอู แล้วนำศีรษะส่งไปให้โจโฉ 

- จากนั้นโจโฉก็ฝังศีรษะกวนอูไว้ที่เมืองลกเอี๋ยง(ลั่วหยาง) 
- ร่างกายกวนอูอยู่ที่เมืองตงหยง(ตงเอี๋ยง) 
- วิญญาณของกวนอูกลับไปยังจวนหยกสัน 

โดยมีกวนเป๋ง จิวฉอง และม้าเซ็กเธาว์ติดตามเป็นบริวาร

หลังจากกวนอูตายได้ไม่นาน หลวงจีนเภาเจ๋งนั่งสมาธิและรับรู้ว่ากวนอูนั้นตายแล้วกลับมาหาตนพร้อมทั้งทวงศีรษะตัวเองคืน (หลวงจีนเภาเจ๋งเป็นชาวบ้านไก่เหลียงบ้านเดียวกับกวนอู)

หลวงจีนเภาเจ๋งจึงว่า "กงเกวียนกำเกวียนตัวฆ่าเขา เขาฆ่าตัว เมื่อท่านฆ่างันเหลียง บุนทิวแลนายด่านห้าตำบลเสีย มีใครมาทวงศีรษะกับท่านบ้าง?" จากนั้นหลวงจีนเภาเจ๋งก็สวดมนต์ให้แก่กวนอู แล้ววิญญาณของกวนอูมาสิงสถิตอยู่ที่ ภูเขาจวนหยกสัน

ด้วยความที่กวนอูเป็นคน ทรงคุณธรรม ยึดมั่นในความสัตย์ คนทั้งปวงจึงยกย่องนับถือกวนอูเป็นเทพกวนอูและกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความคุณธรรม ตั้งแต่นั้นมา

Sunday, April 19, 2015

ศึกอิเหลงพิสูจน์ทองแท้ของซุนกวน


ทองคำแท้ ย่อมไม่แพ้ แม้ความร้อน
ไม่สั่นคลอน ถึงโดนเผา ให้เศร้าหมอง
ไม่ละลาย ไม่อ่อนไหว ดั่งใจปอง
ไม่ขุ่นข้อง ไม่หมองมัว เมื่อยั่วไฟ

หลังจากซุนกวนยึดเกงจิ๋วได้ และทำพลาดอยู่เรื่องหนึ่งคือการประหารกวนอู ซึ่งเป็นความผิดที่ร้ายแรงทำให้เล่าปี่ต้องยกทัพใหญ่มาตี จากเดิมศัตรูคือวุยก๊กบัดนี้มีจ๊กก๊กเป็นศรัตรูอีก ซุนกวนคงจะรับมือสองฝ่ายไม่ไหว มาดูกันว่าซุนกวนแก้เกมนี้ได้วิธีอย่างไร

1.ส่งจูกัดกิ๋นเจรจาขอสงบศึก
2.ยอมมอบซุนฮูหยินกลับไปยังเสฉวน
3.ยอมจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้อกับการตายของกวนอูส่งไปให้ (ส่วนลิบอกนั้นตายไปแล้ว)
4.จับตัวบิฮองและเปาสูหยิน แปรพักต์จากกวนอูจากกวนอู และฮอมเกียงกับเตียวตัด ผู้ตัดหัวเตียวหุย ส่งให้เล่าปี่
5.ยอมส่งเครื่องบรรณาการให้เป็นการไถ่โทษ
6.ยอมเป็นพันธมิตรร่วมรบกับเล่าปี่เพื่อกำจัดโจผี
7.ยอมคืนแผ่นดินเกงจิ๋วทุกตารางนิ้วคืนแก่เล่าปี่

ซุนกวนนั้นยอมทุกอย่าง ขออย่างเดียวอย่ายกทัพมาตีกังตั๋งเลย เล่าปี่ไม่ยอม ยืนกรานว่าจะยกทัพเข้าไปเหยียบกังตั๋งให้ได้ ซุนกวนเมื่อเจรจาไม่ได้ผล ก็ต้องแก้เกมต่อ

- ส่งเตียวจี๋เป็นทูตไปขอเป็นพันธมิตรกับโจผีให้โจผียกทัพตีฮันต๋ง ส่วนซุนกวนจะรบทางเมืองเกงจิ๋ว ช่วยกันกำจัดเล่าปี่

โจผีรู้เกมกล ขอนั่งอยู่ภูดูเสือกัดกันดีกว่า โจผีจึงแต่งตั้งให้ซุนกวนขึ้นเป็น "อ๋อง" เพื่อที่จะให้เล่าปี่นั้นเข้าตีซุนกวน สถานการณ์บังคับซุนกวนต้องรับตำแหน่ง "อ๋อง" จากโจผี เพื่อแสดงถึงความอ่อนน้อม ทีนี้ก็เหลือศึกแต่ฝั่งเล่าปี่ฝ่ายเดียว

พอย้อนไปดูเมื่อครั้งศึกเซ็กเพ็ก ซุนกวนนั้นไม่ยอมก้มหัวให้โจโฉเลย แต่บัดนี้ได้ยอมก้มหัวให้เล่าปี่และโจผี และมีการทัดท้วงจากเหล่าทหารแลขุนนาง แต่ซุนกวนนั้นมีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ จึงเลือกเส้นทางประนีประนอมเพื่อรักษากังตั๋งไว้ อย่าลืมว่าเป้าหมายหลักของง่อก๊กที่ซุนเซ็กได้ให้ไว้ก็คือ "การรักษาปกป้องแคว้นกั๋งตั๋ง"

จากนั้นซุนกวนก็เรียกประชุมๆๆ จะรับมือกับศึกทางเล่าปี่ได้อย่างไร กำเจ๊กได้เสนอชื่อ "ลกซุน" เป็นแม่ทัพต้านศึก ซุนกวนหมดหนทางและต้องเชื่อใจลกซุน

ศึกนี้ซุนกวนได้เสี่ยงเทหมดหน้าตัก ฝากความหวังไว้กับไพ่ใบสุดท้ายกับ ทหารหนุ่มลกซุน ที่ชื่อเสียงยังมิเป็นที่โด่งดังนัก ด้วยการกระบี่อาญาสิทธิ์ สามารถตัดหัวพวกที่ไม่ฟังคำสั่งและปรามทหารรุ่นเก่าๆได้

ท้ายสุดลกซุนสามารถต้านศึกกับเล่าปี่ มีชัยชนะกลับมา นอกจากจะให้ credit กับลกซุนแล้ว ก็ต้องอย่าลืมความปรีชาสามารถในการแก้วิกฤตปัญหาของซุนกวน ผมชอบอยู่คำๆนึง "ผู้นำต้องนำทีมไปสู่ความสำเร็จ ท่ามกลางความไม่พร้อม" มันเป็นอะไรที่เหนือผู้นำจริงๆ หวังว่าแฟนวรรณกรรมสามก๊กจะรับซุนกวนเข้าไปอยู่ในอ้อมอกอ้อมใจบ้าง ไม่มากก็น้อย smile emoticon

ขอบคุณบทกลอนอันไพเราะของ วิหคพลัดถิ่น