Tuesday, March 15, 2016

จูกัดเก๊กกับความฉลาดในวัยเด็ก



จูกัดเก็ก เป็นบุตรของ จูกัดกิ๋น(พี่ชายขงเบ้ง) จูกัดเก็กสติปัญญาดีมาก ไม่รู้ว่าตระกูลนี้มันกินอะไรเป็นอาหาร ด้วยความฉลาดเข้าเค้านี่แหละซุนกวนก็โปรดปราน

ในวัย 6 ขวบ จูกัดเก็กก็ตามพ่อไปในที่ประชุม ซุนกวนเห็นจูกัดกิ๋นมีหน้ายาว ซุนกวนจึงสั่งทหารให้ไปเอาลามาตัวนึง แล้วเขียนคำว่า "จูกัดกิ๋น" เหล่าขุนนางทั้งปวงก็พากันหัวเราะกันใหญ่ (นี่ก็เป็นข้อดีของซุนกวนที่มีความเป็นมิตรกับลูกน้อง)

จูกัดเก็กเห็นจึงเดินไปเอาพู่กันแล้วเขียนเติมเข้าไปว่า "ลาของจูกัดกิ๋น" เหล่าขุนนางและซุนกวนก็พอกันทึ่งในความสามารถของเด็กคนนี้  (ในฉบับพระยาพระคลังได้กว่าว่า ซุนกวนเห็นหน้าจูกัดเก็กเหมือนโล่จึงเอาโล่มาเขียน)

วันต่อมามีงานเลี้ยง ซุนกวนสั่งให้จูกัดเก็กเอาสุราไปให้เตียวเจียวดื่ม เตียวเจียวไม่ยอมดื่ม




เตียวเจียว : "นี่มิใช่ยาบำรุงสำหรับคนแก่นะหนู"

ซุนกวน : "จูกัดเก็ก เจ้าสามารถหาทางบังคับให้เตียวเจียวดื่มได้หรือไม่?"

จูกัดเก็ก : "ในอดีต เจี่ยงซั่งฟู่มีอายุ 90 ปี ยังสามารถถือธงเข้าไปสู้กับขวานของแม่ทัพข้าศึกได้ โดยไม่พูดว่าตัวเองแก่ซักคำ บัดนี้เมื่อเราอยู่หน้าศึกเราให้ผู้ใหญ่อยู่หลัง แต่เวลาดื่มสุราเราให้ผู้ใหญ่ออกหน้า แล้วไฉนท่านจึงอ้างว่าตัวเองแก่เล่า"

เตียวเจียวสิ้นคำถกเถียงจึงจำใจดื่มสุรานั้น ซุนกวนเห็นว่าขนาดเตียวเจียวเป็นที่ปรึกษาที่มีความสามารถยังยอมจำนนต่อเด็ก จึงแต่งตั้งใจจูกัดเก็กเป็นเสนาบดี

ในตอนโตจูกัดเก็กได้เป็นแม่ทัพใหญ่และเป็นเสาหลักอีกคนหนึ่งของกังตั๋ง แต่น่าเสียดายที่เค้าต้องมีจุดจบที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ จูกัดเก๊กตัดสินใจในการรบผิด ทำให้กองทัพง่อก๊กต้องกลอุบายของแม่ทัพวุยก๊กจนต้องพ่ายยับเยินกลับมา ด้วยความอัปยศ จูกัดเก๊กโยนความผิด ปัดความรับผิดชอบในการทำศึกพ่ายแพ้ไปที่แม่ทัพนายกอง และที่ปรึกษา ให้พิจารณาสั่งประหารขุนพลไปหลายคน ทั้งยังเข้ากุมอำนาจเด็ดขาด แต่งตั้งญาติพีน้อง คนสนิทเข้ามามีอำนาจในราชสำนัก สร้างความไม่พอใจให้กับเชื้อพระวงศ์ รวมทั้งพระเจ้าซุนเหลียงเป็นอย่างมาก แม่ทัพทหารม้า ซุนจุ๋น และน้องชายซุนหลิม จึงวางแผนลวงจูกัดเก๊กมาสังหารในงานกินเลี้ยงภายในวังหลวงสำเร็จ ซุนจุ๋นประกาศโทษจูกัดเก๊กเป็นกบฏต่อราชบัลลังก์ ยังผลไปถึงญาติพี่น้องในตระกูลจูกัด ต้องถูกประหารถึงสามชั่วโคตร คำกล่าวของจูกัดกิ๋นจึงปรากฏเป็นจริงอย่างไม่ผิดเพี้ยน สมดังคำกล่าวที่ว่า "ไม่มีใครรู้จักบุตรได้ดีเท่ากับบิดา" นั่นเอง