Wednesday, April 27, 2016

โหงวเฮ้ง ในสามก๊ก



โหงวเฮ้ง หรือ นรลักษณ์ ศาสตร์นี้มีมานานมากแม้กระทั่งในยุคสามก๊กยังกล่าวถึงศาสตร์นี้ ซึ่งหมายถึงวิชาอันใช้พิจารณาลักษณะของมนุษย์ เพื่อดูนิสัยใจคอ ความสามารถ

เมื่อตอนที่กวนอูยกทัพมาตีเมืองเตียงสา เจ้าเมืองที่ชื่อฮันเหียนได้สั่งให้ฮองตงออกไปรบกับกวนอู การสู้รบยังมิรู้แพ้แลชนะฮองตงก็ต้องโทษประหาร อุยเอี๋ยนจึงลงมือฆ่าหันเหี๋ยนและได้ช่วยฮองตงไว้ได้ หลังจากยึดอำนาจเสร็จก็เปิดประตูเมืองต้อนรับกวนอูให้เข้ามาปรกครองเมืองก็เห็นลักษณะโหงวเฮ้ง

พอกวนอูยึดเมืองได้ก็ส่งหนังสือเรียกเล่าปี่และขงเบ้งเดินทางมายังเมืองเตียงสา ขงเบ้งเข้ามาถึงก็สั่งประหารอุยเอี๋ยนทันที โดยขงเบ้งอ้างเหตุผลว่า "ผู้ใดกินข้าวแดงท่านแลฆ่าท่านผู้มีคุณเสีย ผู้นั้นเป็นคนหากตัญญูไม่ ผู้ใดอาศัยอยู่ในแผ่นดินของท่านแล้วคิดยกเอาแผ่นดินไปให้ผู้อื่นเสีย ผู้นั้นเป็นคนหาความสัตย์ไม่"

นอกจากที่ขงเบ้งจะอ้างเหตุผลนี้แล้ว ขงเบ้งยังใช้วิธีดู โหงวเฮ้ง ของอุยเอี๋ยน ถึงแม้สามก๊กหลายฉบับจะมิได้ระบุหน้าตาของอุยเอี๋ยนไว้ แต่ก็ยังมีภาพวาดอุยเอี๋ยนในฉบับอื่นๆ ซึ่งสามก๊กฉบับคนขายชาติได้พรรณาลักษณะของอุยเอี๋ยนว่า

ระดับหูทั้งสองข้างไม่ตรงกัน ระดับตาทั้งสองข้างไม่ตรงกัน ขอบรูจมูกทั้งสองรูไม่ตรงกัน นอกจากนี้ลักษณะคลองนัยน์ตาแคบ ดวงตาขาวมากกว่าตาดำ ดวงตาดำมีลักษณะกลิ้งกลอก ต้องด้วยคัมภีร์นรลักษณ์แต่โบราณที่ถือว่าเป็นลักษณะของคนเนรคุณ ซึ่งเป็นคนละอย่างกับผู้ที่มีลักษณะเบญจทุรลักษณ์ คือลักษณะชั่วห้าประการ ได้แก่ ตัวเตี้ย ผมหยิก หน้าก้อ คอสั้น และฟันเหยิน คัมภีร์นรลักษณ์แต่โบราณระบุว่าผู้ประกอบด้วยเบญจทุรลักษณ์เป็นคนกาลกิณี ล้างผลาญทำลายนายให้วายวอด ทั้งชื่อเสียงเกียรติคุณ ยศฐาบรรดาศักดิ์และทรัพย์สิ่งศฤงคารทั้งปวง

อีกเหตุผลนึงก็คือ อุยเอี๋ยนเป็นที่มีนิสัยเย่อหยิ่งอวดดี ขงเบ้งจึงว่าแผนข่มอุยอุ๋นจนบีบอุยเอี๋ยนเป็นกบฎในเวลาต่อมา

คนต่อมาเจ้านายใหญ่แห่งเมืองกังตั๋งซุนกวน เมื่อขงเบ้งได้นั่งเรือน้อยล่องมายังเมืองกังตั๋งกับโลซก หวังยุยงให้ซุนกวนรบกับโจโฉ เมื่อขงเบ้งได้พบกับซุนกวนนั้นก็เห็นโหวงเฮ้งของซุนกวน  "ซุนกวนนี้มีลักษณะเข้มขัน จักษุก็แดง หนวดแดง เป็นคนมีบุญ แต่ว่าน้ำใจจะดื้อดึง อันจะเจรจาสุภาพเห็นมิได้ ชอบแต่เจรจายุ แม้จะไต่ถามถึงเนื้อความโจโฉก็ว่าให้โกรธขึ้นจึงจะได้" 

สามก๊กฉบับภาษาจีนซึ่งได้แปลเป็นฉบับสมบูรณ์ระบุว่าซุนกวนนั้น "มีนัยน์ตาดุจเพชร หนวดสีแสด ท่าทางองอาจสง่าผ่าเผยเป็นอย่างยิ่ง" ขงเบ้งพิเคราะห์ดูตามหลักโหงวเฮ้งแล้วเห็นว่า "อันบุคคลผู้นี้มีนรลักษณ์มิใช่ธรรมดาสามัญ จำจะต้องใช้วาจายั่วยุให้โกรธ มิควรไปพูดจาขอร้อง ต้องรอให้เขาถามมาจึงจะใช้คารมยั่วยุดูเชิงก่อน"

มาดูโหงวเฮ้งคนต่อไปบ้าง นั่นก็คืออาจารย์บังทอง บังทองได้สร้างผลงานด้วยการใช้อุบายผูกเรือโจโฉในศึกเซ็กเพ็ก หลังจากจิวยี่ตายบังทองก็ได้เข้ามาสมัครเป็นที่ปรึกษาของซุนกวนด้วยคำแนะนำของโลซก ซุนกวนได้เห็นโหงวเฮ้งบังทองครั้งแรก "เห็นคิ้วใหญ่ จมูกโด่ง หน้าดำ หนวดสั้น รูปนั้นวิปริตนัก" จึงรู้สึกไม่พอใจ ไม่เลื่อมใสศรัทธา อย่าว่าแต่ซุนกวนเห็นครั้งแรกเลย แม้แต่เล่าปี่เห็นก็ยังไม่ถูกใจ

คนสุดท้ายก็คงไม่ใช่ใครนอกจากสุมาอี้ โจโฉได้ข่าวว่าสุมาอี้มีท่าทางหันมองเหมือนหมาจิ้งจอก จึงใคร่ที่จะทดสอบ จึงสั่งให้สุมาอี้เดินไปแล้วหันกลับมา สุมาอี้หันมามองโดยตัวไม่เคลื่อนไหว สุมาอี้นั้นเป็นคนขี้ระแวงแต่ทั้งหมดนี้ก็ถูกเปรียบเทียบคล้ายกับบุคลิคของหมาจิ้งจอก ตัวโจโฉเองก็มีทักษะการดูโหงวเฮ้งเหมือนกัน จึงวิเคราะห์โหงวเฮ้งของสุมาอี้ว่าในภายภาคหน้า สุมาอี้นั้นจะเป็นภัยต่อตน

ศาสตร์การดูโหงวเฮ้งนั้นในเมืองไทยค่อนข้างแพร่หลาย บางบริษัทมีทีงานผู้สัมภาษณ์ที่ทำหน้าที่ดูโหงวเฮ้งโดยเฉพาะ  คงจะกลัวคนอย่างอุยเอี๋ยนหรือสุมาอี้กระมั้งครับ.....